กิจกรรม การส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมสีธรรมชาติโดยใช้แนวคิดเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-design) เพื่อสานต่อภูมิปัญญาตามวิถีแห่งความพอเพียง โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
ผลจากการดำเนินงานในระยะที่ 1 ก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนต้นแบบในพื้นที่บ้านดอนกอย ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยมีภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วม ได้แก่ พัฒนาชุมชน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ.พรรณานิคม ศูนย์ปฏิบัติงาน อว.ส่วนหน้า จ.สกลนคร (ม.ราชภัฏสกลนคร) ผู้นำชุมชนบ้านดอนกอยและนายอำเภอพรรณนานิคม โดยต้องการต่อยอดในระยะที่ 1 ในการพัฒนาเครื่องผสมน้ำครามกึ่งอัตโนมัติควบคุมด้วยระบบสมองกลฝังตัว (ลิขสิทธิ์ มทร.อีสาน) ผลิตภัณฑ์ชุดเสื้อยูกาตะ เสื้อผูกเอวและกระเปงขายาว (การเกงผสมกระโปรง) ผ้าย้อมครามและสีธรรมชาติภายใต้แนวคิดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco design) แอพพลิเคชันออกแบบลายผ้ามัดหมี่ บึงประดิษฐ์บำบัดน้ำเสีย ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบออนกริดเพื่อการประหยัดพลังงานไฟฟ้านอกจากนี้ยังเกิดขบวนการก่อหม้อและเลี้ยงหม้อครามด้วยกระบวนการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาร่วมกับวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม และการขายสินค้าออนไลน์ผ่าน Facebook Live และ Shopee
ในระยะที่ 2 ทางคณะวิจัยได้ทำการขยายผลต่อยอดเพื่อสร้างศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามและสีธรรมชาติที่ใช้แนวคิดเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco design) โดยการบูรณาการ SEP BCG และ SDG ด้วยการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาร่วมกับการวิจัย นวัตกรรม ซึ่งในวิชชาลัยดอนกอย จังหวัดสกลนครมีชื่อเสียงในเรื่องการผลิตผ้าย้อมครามในระดับประเทศอยู่แล้ว แต่สำหรับการเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญายังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อนักวิจัยที่หากสามารถนำภูมิปัญญา โมเดลธุรกิจและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เคยนำมาใช้ในพื้นที่บ้านดอนกอย มาถอดบทเรียนจนนำไปสู่การพัฒนาศูนย์การถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้ผู้สนใจ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าอื่นๆ ในจังหวัดสกลนครและจังหวดใกล้เคียงสามารถเข้ามาศึกษา เรียนรู้ และกลับไปปฏิบัติตามต้นแบบวิชชาลัยดอนกอยว่าจะสามารถผลักดันให้ประสบความสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด